ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

หนังไทยเพื่อ "พ่อหลวง"

หนังไทยเพื่อ  "พ่อหลวง"
" ด้วยเกล้า "



                      ด้วยเกล้า เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่แสดงออกถึงความจงรักภักดี และความเคารพเทิดทูนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีเนื้อหาสาระเป็นคติสอนใจคน ซึ่งถ่ายทอดจากความรู้สึกของชาวนาและความยากลำบากของกระดูกสันหลังของชาติ แต่ยังดีที่แม้ว่าทุกคนจะแร้นแค้นยากจนสักเพียงใด ความร่มเย็นและน้ำพระทัยของ“ในหลวง” ก็แผ่กระจายเอาความชุ่มชื่นร่มเย็นไปถึง...
   




เรื่องย่อ ด้วยเกล้า


                "เสาคำ"    ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ กลับบ้านเกิดในภาคเหนือพร้อมกับเมล็ดข้าวที่แย่งมาได้จากท้องสนามหลวงเพียงไม่กี่เมล็ด โดยตั้งใจจะนำไปแยกปลูกในที่ดินของตนเพื่อเป็นสิริมงคล เวลาผ่านไปหลายปี หมู่บ้านของเสาคำประสบภัยแล้ง ทำให้ปลูกข้าวไม่ได้ติดต่อกันมานาน คนส่วนใหญ่ซึ่งมีอาชีพทำนาพากันเดือดร้อน

.


                จนหลายครอบครัวทนไม่ไหว ต้องพากันอพยพไปยังถิ่นอื่น น้ำกินน้ำดื่มต้องอาศัยซื้อหาเอาจากบ่อน้ำแห่งเดียวของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นของแม่เลี้ยงบัวเรียน เศรษฐีบ้านนอกนักปล่อยเงินกู้หน้าเลือด ความพยายามแรกของชาวนาในการเสาะแสวงหาน้ำแหล่งใหม่ คือ พึ่งไสยศาสตร์ แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว


              ลูกชายคนโตของเสาคำ  ที่ได้ทุนหลวงไปเรียนต่อเมืองนอก ได้กลับมาทำงานโครงการหลวงบนดอย เขาตกลงใจจะยื่นฎีกาขอฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพ่อและชาวนาในละแวกนั้น ทำให้หมู่บ้านอันแห้งแล้งสามารถกลับมาปลูกข้าวได้อีกครั้งในที่สุด แต่ขณะที่ทุกคนกำลังดีใจอยู่นั้น คำปั๋น  และติ๊บ ภรรยา  กลับต้องเศร้าใจ เมื่อถูกแม่เลี้ยงบัวเรียนยึดนากับบ้านเพราะไม่ยอมส่งเงินใช้หนี้ ทั้งสองจึงย้ายมาอยู่กับเสาคำ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่สนิทสนมกัน ตามคำชวนของฝ่ายหลัง


                 สำอาง  ลูกชายคนเล็กของเสาคำ ไม่พอใจชีวิตชาวนาที่ยากจนแบบพ่อ เขาหนีไปอยู่กับพวกค้าฝิ่น ก่อนจะพบรักกับนาจา  สาวชาวเขา แต่ยิ่งสำอางถลำตัวลึกลงไปเท่าใด เขาก็ยิ่งนำความเดือดร้อนมาสู่ครอบครัวแบบไม่จบสิ้น โดยเฉพาะการทำให้คำนึง น้องชายของติ๊บที่เป็นตำรวจตระเวนชายแดนต้องออกจากราชการ เพราะพยายามจะช่วยสำอางตามคำขอของเสาแก้ว  ลูกสาวคนเดียวของเสาคำ เมื่อครั้งตำรวจบุกกวาดล้างพวกค้าฝิ่น


                 แต่สุดท้าย ทุกอย่างก็คลี่คลายไปในทางที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่สามารถปลูกพืชอื่นทดแทนข้าวได้ สำอางเลิกคบกับพวกค้าฝิ่น แล้วหันมาช่วยพ่อในการเพาะเห็ด ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างเสาแก้วกับคำนึง แม่เลี้ยงบัวเรียนต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นเพราะไม่มีใครมาใช้บริการเงินกู้ หรือซื้อของจากเธออีกต่อไป ส่วนเสาคำเอง ที่แม้จะหันไปปลูกพืชอย่างอื่นแทนแล้ว แต่เขาก็ยังกันที่ส่วนหนึ่งไว้ปลูกข้าวของในหลวงเพื่อใช้ถวายในวันที่พระองค์ท่านเสด็จมาเยือน


                  เสาคำโง่หรือที่ไม่ยอมขายนาแล้วเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นซึ่งมีรายได้ดีกว่า อพยพจากผืนดินแห้งแล้งนี้ไปอยู่ในเมืองตามคำแนะนำของสำอาง คำตอบที่หนังเรื่องด้วยเกล้ามอบให้คนดู คือ เงินหาใช่ตัวแปรสำคัญสูงสุดในการดำรงชีวิตให้มีความสุขและมีคุณค่า เพราะบุคคลที่ได้ชื่อว่าถึงพร้อมในเรื่องเงินทองอย่างแม่เลี้ยงบัวเรียนกลับไม่อาจใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในหมู่บ้านได้อย่างตลอดรอดฝั่ง

                สำหรับเสาคำ เงินกลายเป็นสิ่งสำคัญเมื่อเขาพยายามจะรักษาที่ดินไว้ ช่วยเหลือคนรู้จัก และให้ลูกๆ ได้อยู่ดีกินดี แต่เมื่อเทียบกับผืนแผ่นดินที่บรรพบุรุษของเขาต่อสู้กันมานับสิบรุ่นแล้ว เงินไม่สามารถจูงใจให้เขาขายที่ดินได้ เช่นเดียวกับอาชีพเกษตรกร ซึ่งสืบทอดกันมาช้านาน สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือน “รากเหง้า” ของชีวิตเสาคำ เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่อย่างสำอางไม่อาจเข้าใจและเข้าถึงได้

                 แม้ตอนท้าย เสาคำจะเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นแทนข้าว แต่หลักปรัชญาในการดำรงชีพของเขาก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงและจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง มันเพียงแต่ปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น เขายังคงเป็นเกษตรกรผู้เมตตา ซื่อสัตย์ มีน้ำใจ รักถิ่นฐาน และมอบความจงรักภักดีให้กับในหลวงอย่างจริงใจ....

              ภาพยนตร์เรื่องด้วยเกล้านี้ มีการเดินทางมายาวนานถึง 19 ปีเต็ม เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับเกียรติจากในวัง ขอนำภาพยนตร์ไปฉายที่ "สนามหลวง" ทุกวันที่ 5 ธ.ค. ของทุกปี เพราะเป็นภาพยนตร์เรื่องเดียวที่บอกเล่าถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระองค์ท่าน......

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น